หนังสือเล่มใหม่ของผมมีชื่อว่า “เสรีนิยมยืนขึ้น” ตอนนี้อยู่ที่โรงพิมพ์แล้ว เห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะแนะนำและเล่าถึงเนื้อหาของหนังสือโดยสังเขป
.
“เสรีนิยมยืนขึ้น” เป็นหนังสือความเรียง ผสมผสานข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ปรัชญา ข่าวสารร่วมสมัย และความเห็นของผู้เขียน เกี่ยวกับแนวคิดที่เรียกว่า “เสรีนิยม” (หรือ liberalism ในภาษาอังกฤษ) การเขียนหนังสือเล่มนี้มีสาเหตุเบื้องต้นจากความตระหนักถึงนิสัยใจคอของผมเองว่าน่าจะจัดเป็นคนประเภทเสรีนิยม และเท่าที่เห็นโดยทั่วไปแนวคิดเสรีนิยมก็เป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลายประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและมีอารยะทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม แต่ในสังคมไทย บ่อยครั้งคุณสมบัติความเป็นเสรีนิยมกลับถูกแปะป้ายว่าไม่เหมาะสม หรือที่แย่กว่านั้นคืออาจถูกกล่าวหาถึงขั้นว่าผู้มีจริตเสรีนิยมเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ทัศนคติด้านลบอย่างรุนแรงที่คนไทยส่วนหนึ่งมีต่อแนวคิดเสรีนิยมทำให้ผมเกิดความสงสัยว่าอะไรทำให้แนวคิดเสรีนิยมเป็นที่รังเกียจและถูกสกัดกั้นกีดกัน ทั้งๆที่เสรีนิยมเป็นรากฐานของโลกสมัยใหม่ในหลายมิติ และสังคมไทยก็ได้ประโยชน์มหาศาลจากความเป็นสมัยใหม่นี้เช่นเดียวกับชาติอื่นๆ
.
ความสงสัยพาผมย้อนไปศึกษาต้นตอของแนวคิดเสรีนิยม อ่านข้อมูลเกี่ยวกับการปะทะทางอุดมการณ์ระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยมในประวัติศาสตร์ รวมทั้งสังเกตสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ดูเหมือนว่าปัญหาความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยมจะยังดำเนินอยู่และกำลังเข้มข้นมากขึ้นในหลายประเทศ การอ่านประวัติศาสตร์ประกอบกับการรับฟังข่าวสารในแต่ละวันทำให้ผมตระหนักอีกด้วยว่าความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยมในแต่ละพื้นที่มีลักษณะแตกต่างกันอยู่อย่างมีนัยสำคัญ นั่นคือบางแห่งเป็นการปะทะระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยม “สมัยใหม่” ในขณะที่บางแห่งเป็นการปะทะระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยม “ก่อนสมัยใหม่”
.
“เสรีนิยมยืนขึ้น” แบ่งออกเป็น 4 บท:
1. เสรีนิยมหลากนิยาม
2. เสรีนิยมในห้องทดลอง
3. จารีตนิยมโถมกลับ?
4. ที่ยืนของเสรีนิยม
.
บทแรกจำแนกความหมายของคำว่า “เสรีนิยม” เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องร่วมกัน บทที่สองมีข้อมูลประวัติความเป็นมาของเสรีนิยมและความหมายตามที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน บทที่สามพิจารณาสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยมในบริบทร่วมสมัย และจบที่ข้อสังเกตเกี่ยวกับพื้นที่ปัจจุบันของเสรีนิยมในแต่ละสังคม รวมทั้งสังคมไทย หนังสือเล่มนี้อาจมีที่มาจากความสงสัยที่มีต่อสภาพแวดล้อมของผมเอง แต่เนื้อหาของหนังสือเป็นการหาความรู้ใส่ตัวและพยายามมองกว้างออกไป บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าแนวคิดเป็นเสรีนิยมมีความเป็นสากลและส่งผลกระทบต่อประชาคมโลกทั้งหมด
.
ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ในฐานะคนทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อว่าแนวคิดเสรีนิยมเป็นพื้นฐานของการสร้างสรรค์และการเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับคนในสังคม แน่นอนว่าไม่มีแนวคิดใดสมบูรณ์หรือถูกต้องไปเสียทั้งหมด แต่ผมก็ไม่คิดว่าเสรีนิยมเป็นแนวคิดที่เลวร้ายดังที่คนบางกลุ่มในสังคมไทยกล่าวหา ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ด้วยความหวังจะเห็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างเสรีนิยมกับจารีตนิยมอย่างมีอารยะและสันติ ไม่ใช่เพื่อสุมไฟให้กับความขัดแย้งที่เรื้อรังต่อเนื่องมายาวนาน ผมเขียนด้วยความเชื่อ (ที่อาจไร้เดียงสา) ว่าการอภิปรายด้วยเหตุผลและอย่างมีขันติธรรมจะนำความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมาให้สังคมได้ไม่มากก็น้อย
.
หนังสือ “เสรีนิยมยืนขึ้น: ข้อสังเกตว่าด้วยแนวคิดเสรีนิยมในสังคมจารีต” มีความหนา 288 หน้า ราคาปก 295 บาท และจะพิมพ์เสร็จภายในสัปดาห์แรกของเดือนพฤศจิกายนนี้
.
สำหรับคุณผู้อ่านที่สนใจสั่งซื้อหนังสือล่วงหน้า (pre-order) แบบพิเศษ ตั้งแต่วันนี้ถึง 5 พฤศจิกายน ผมได้ออกแบบแผ่นพับชื่อ “The Spirit of Change” ซึ่งมีบทแปลบางส่วนจากงานเขียนของสองนักปรัชญาคนสำคัญคือ ธอมัส เพน และ จอห์น สจ๊วต มิลล์ พิมพ์ลงบนกระดาษขนาด A3 พิมพ์สองด้าน ส่งไปกับหนังสือพร้อมลายเซ็น สำหรับผู้ที่สั่งซื้อหนังสือล่วงหน้าในราคาเต็ม 295 บาท (จัดส่งฟรีลงทะเบียน) เท่านั้น
.
ขอบคุณทุกคนที่สละเวลาอ่านและให้ความสนใจหนังสือ “เสรีนิยมยืนขึ้น” นะครับ แล้วผมจะโผล่มาคุยด้วยอีกเป็นระยะ
.
สำหรับผู้สนใจ pre-order สามารถไปที่ ไต้ฝุ่น สตูดิโอ ได้เลย หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Typhoon Studio ครับ
.
ด้วยเสรีจิตและมิตรภาพ
.
ปราบดา หยุ่น

Leave a Reply